ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 13 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ผู้จัดการมรดกทุจริตยักยอกแอบโอนทรัพย์มรดกให้บุคคลภายนอกมีทางแก้ไขอย่างไร

                  ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 และมาตรา 1719  แต่ในสังคมปัจจุบันมีคดีความพิพาทในศาลจำนวนไม่น้อยที่พิพาทกันเกี่ยวกับผู้จัดการมรดกทุจริตแอบเอาทรัพย์มรดกไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่ยอมแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก และแอบรับเงินไปคนเดียว  ทายาทที่เหลือเมื่อรู้ความจริงก็ต่อเมื่อผู้ซื้อได้มาฟ้องขับไล่ออกทรัพย์มรดก  ความเสียหายหรือพฤติการณ์ดังกล่าวจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร  ซึ่งทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกนั้นถือว่าเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามกฎหมาย  ดังนั้นการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกให้แก่บุคคลภายนอกย่อมเป็นการเสียเปรียบแก่ทายาทผู้รับมรดกอื่นในฐานะเป็นผู้จะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน  ทายาทอื่นจึงสามารถฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนที่ดินมรดกได้  แต่ต้องพิจารณาก่อนว่าบุคคลภายนอกซื้อที่ดินจากผู้จัดการมรดกโดยเสียค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตหรือไม่ด้วย  นอกจากนี้การโอนทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดกเป็นเรื่องที่ผู้จัดการมรดกกระทำไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทอื่นจึงเป็นเรื่องที่ผู้จัดการมรดกจัดการมรดกโดยไม่ชอบ  โดยทายาทอื่นๆ ที่เสียประโยชน์ต้องยื่นฟ้องผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับการจัดการมรดกภายใน 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงด้วย มิเช่นนั้นคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง  By www.siaminterlegal.com