ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 1 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ความรับผิดของผู้รับเหมาหรือเจ้าของโครงการหรือเจ้าของบ้าน

             ปัญหาดังกล่าวถือว่าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากสำหรับคดีที่พิพาทด้วยสาเหตุมาจากการกระทำการก่อสร้าง ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ได้เกิดจากการก่อสร้างก็ได้ แต่ที่นำมาเขียนบทความนี้เห็นว่าคดีพิพาทมีความเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่จึงขอหยิบยกประเด็นดังกล่าวเป็นสำคัญ สำหรับการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆ คงหนีไม่พ้นการกระทำของผู้รับเหมาที่บางทีอาจไปกระทบกระทั่งต่อสิทธิหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอยู่เป็นประจำ เช่น ผู้รับเหมาตอกเสาเข็มทำให้ตึกข้างเคียงเสียหาย หรือขุดดินมากทำให้ดินข้างเคียงพังทลาย หรือบ้านเรือนแตกร้าวจากแรงสั่นสะเทือน เป็นต้น  และผู้ได้รับความเสียหายก็จะใช้สิทธิฟ้องผู้รับเหมาเป็นจำเลยที่ 1 ฟ้องเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโครงการเป็นจำเลยที่ 2 คนควบคุมการก่อสร้างหรือวิศวกรเป็นจำเลยที่ 3  ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 บัญญัติว่า "ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง"

              กรณีผู้ว่าจ้างทำของนั้นจะต้องรับผิดต่อเมื่อเป็นความรับผิดของผู้ว่าจ้างในส่วนการงานที่สั่งให้ทำเป็นละเมิด หรือคำสั่งของผู้ว่าจ้างเป็นละเมิด หรือผู้ว่าจ้างหาผู้รับจ้างโดยรู้อยู่แล้วว่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น  ดังนั้นการจะพิจารณาว่าความผิดเกิดขึ้นแต่ฝ่ายใดหรือฝ่ายใดต้องรับผิดอย่างไรบ้าง รวมทั้งการตั้งประเด็นยื่นฟ้องร้องในแต่ละส่วน หรือการตกเป็นจำเลยและมีประเด็นต้องต่อสู้ว่าตนมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่อย่างไรนั้น ปัญหาดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาจากทนายความที่มีประสบการณ์และสามารถวิเคราะห์ความรับผิดก่อนการเลือกใช้สิทธิดำเนินคดีหรือต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องด้วย  มิเช่นนั้นอาจจะทำให้คดีเกิดความผิดพลาดเสียหายได้  By www.siaminterlegal.com