ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 8 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ปัญหาการยืมทรัพย์สินแล้วไม่คืนจะมีความผิดทางอาญาหรือไม่อย่างไร และมีกลโกงอย่างไร

               ปัญหาการยืมทรัพย์สินแล้วมีเจตนาไม่นำมาคืนนั้นเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในสังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นคนใจดีชอบช่วยเหลือคนอื่น แต่ในความใจดีนั้นหากไปเจอกับคนที่มีเจตนาไม่ดีแล้วก็อาจจะต้องมานั่งเสียใจภายหลังเช่นนั้น และเรื่องดังกล่าวมีกลโกงแอบแฝงอยู่มากมาย คนให้ยืมจึงต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ดีเสียก่อนการกระทำการอันใดลงไป  ในส่วนของการให้ยืมเงินนั้นกรรมสิทธิ์ในเงินที่ให้ยืมตกเป็นของผู้ยืมทันที ดังนั้นการไม่คืนเงินจึงต้องไปว่ากันเรื่องของการผิดสัญญาการกู้ยืมเงินและต้องไปว่ากันในส่วนทางแพ่ง แต่หากเป็นเรื่องการลงทุนร่วมกันในการประกอบธุรกิจ และผู้รับเงินไปไม่ยอมทำธุรกิจร่วมกันตามที่ตกลงกันอย่างนี้เป็นเรื่องการฉ้อโกงได้เพราะไม่ใช่การกู้ยืมเงินกันแต่เป็นเรื่องการลงทุนประกอบธุรกิจร่วมกัน  สำหรับเรื่องของการยืมทรัพย์สินอย่างอื่นที่ไม่ใช่เงิน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไม่โอนไปด้วย ผู้ยืมมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินเมื่อครบกำหนดคืนหรือครบกำหนดที่ผู้ให้ยืมได้ทวงถาม  หากไม่คืนถือว่ามีเจตนายักยอกทรัพย์หรือฉ้อโกงทรัพย์แล้วแต่ข้อเท็จจริง  โดยข้อหาดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้ต้องแจ้งความหรือฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิเช่นนั้นคดีขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96  ซึ่งเมื่อได้ทวงถามแล้วเขาไม่คืนหรือปฏิเสธว่าไม่ได้ยืมเช่นนั้นเท่ากับว่าเขามีเจตนากระทำความผิดแล้วต้องรีบดำเนินคดีภายใน 3 เดือน และเพื่อให้ข้อเท็จจริงชัดเจนต้องให้ทนายความออกหนังสือขอให้คืนทรัพย์ หากไม่คืนถือว่ามีเจตนาทุจริต ซึ่งคดีจำนวนมากเมื่อผู้ยืมได้รับหนังสือจากทนายความจนเกิดความกลัวก็คืนทรัพย์สินและไม่ต้องดำเนินคดีใดๆ  แต่หากยังไม่ยอมคืนทรัพย์ก็มีสิทธิดำเนินคดีต่อไปได้อีกด้วย  และในระหว่างการติดตามทวงถามการตกลงหรือดำเนินการใดๆ ต้องสอบถามทนายความเสียก่อนว่าจะเกิดผลเสียหายต่อคดีหรือไม่ เพราะเรื่องดังกล่าวมีกลโกงในการทำให้คดียุติไปจำนวนมาก  หากผู้ให้ยืมรู้ไม่เท่าทันหรือไม่ทราบข้อกฎหมายอาจทำให้ต้องสูญเสียทรัพย์สินไปทั้งหมด  และกลโกงดังกล่าวไม่อาจนำมาเขียนเป็นบทความได้เพราะอาจมีบุคคลที่มีเจตนาร้ายนำไปปฏิบัติจนเกิดการเอารัดเอาเปรียบในเชิงคดีได้  By www.siaminterlegal.com