ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 8 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ศาลไม่ให้ประกันตัวเมื่อพนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาลหรือศาลไต่สวนมูลฟ้องจนคดีมีมูลแล้วจะประกันตัวอย่างไร อุทธรณ์คำสั่งศาลไม่ให้ประกันตัวต้องทำอย่างไร ทนายอุทธรณ์เรื่องประกันตัวอย่างไร

             เมื่อพนักงานอัยการนำตัวจำเลยยื่นฟ้องต่อศาล หรือกรณีผู้เสียหายฟ้องคดีเองและศาลไต่สวนมูลฟ้องจนคดีมีมูลแล้ว  จำเลยดังกล่าวก็สามารถมีสิทธิที่จะขอประกันตัวต่อศาลได้ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น  โดยเมื่อได้รับประกันตัวไปแล้วจำเลยจะต้องไม่หลบหนี ไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่ไปข่มขู่หรือทำลายพยานหลักฐานของโจทก์ ไม่ไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นใด ไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพิจารณาคดีของศาล โดยหากได้รับการปล่อยตัวไปแล้วไปกระทำการดังกล่าว ผู้เสียหายหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายหรือโจทก์มีสิทธิขอให้ศาลคุมขังจำเลยไว้ระหว่างการพิจารณาของศาลได้ ศาลจะทำการไต่สวนหาความจริง และมีคำสั่ง  หากมีคำสั่งให้คุมขังไว้  จำเลยก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ขอให้ปล่อยตัวได้

             หากศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นการพิจารณาในศาลชั้นต้น  จำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้ปล่อยชั่วคราวใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 108/1 หรือใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 119 ทวิ (1)  หากศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันอีกคำสั่งนั้นเป็นที่สุด  แต่ผู้ต้องหายังมีสิทธิขอประกันใหม่ได้

             สำหรับการอุทธรณ์นั้นเป็นความรู้ความสามารถของทนายแต่ละคนว่าจะบรรยายอุทธรณ์ในลักษณะใดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวได้  ซึ่งในหลักการจะต้องเป็นการบรรยายอุทธรณ์ว่าพฤติการณ์ของจำเลยไม่เป็นไปตามเหตุในมาตรา 108/1 (1)-(5) เพราะเหตุผลอย่างไร  และต้องบรรยายอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่เคยหลบหนีมาก่อน ไม่เคยผิดสัญญาประกันมาก่อน หรือเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงอย่างไร มีอาการอย่างไร เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือไม่ และหากมีอาการกำเริบจะส่งผลอยางไร และต้องพบแพทย์โดยด่วนหรือส่งผลต่อร่างกายและชีวิตอย่างไร โดยแนบใบรับรองแพทย์ประกอบด้วย หรือจำเลยมีการประกอบอาชีพหรือมีภาระหน้าที่ดูแลทรัพย์สินหรือบุคคลในครอบครัวอย่างไร  หรือหากถูกจำคุกต้องได้รับผลกระทบเสียหายหรือเกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินหรือบุคคลอื่นอย่างไร By www.siaminterlegal.com