ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 12 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนเป็นอย่างไร โดนแจ้งความดำเนินคดีตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

                   พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ กำหนดคำนิยามของการกู้ยืมเงิน ตามมาตรา 3  กู้ยืมเงิน หมายความว่า รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นไม่ว่าจะในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การยืม การจำหน่ายบัตรหรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็นสมาชิก การเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในลักษณะอื่นใด โดยผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนหรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือจ่ายเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด หรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้นจะกระทำด้วยวิธีการใดๆ

                   องค์ประกอบความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน คือ การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฎตามประชาชน หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฎแก่บคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฏหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

                  ศาลฏีกาได้เคยมีคำพิพากษาวินิจฉัยไว้ว่าแม้จำเลยแสดงข้อความให้ปรากฎแก่ผู้เสียหายบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยกู้ยืมก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว  และการชักชวนผู้เสียหายแต่ละคนและยอมรับเงินไว้จากผู้เสียหายแต่ละคนถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน ย่อมเป็นความผิดหลายกรรม

                  ความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย  ดังนั้นราษฏรจะเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองหรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไม่ได้  นอกจากนี้พนักงานอัยการยังมีอำนาจที่ขอท้ายฟ้องตามมาตรา 9 โดยขอให้เรียกต้นเงินคืนและยังมีอำนาจเรียกผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายให้แก่ผู้เสียหายได้อีกด้วย  และความผิดมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และยังมีการปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ตามมาตรา 12  By www.siaminterlegal.com