ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 7 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

การยักยอกหุ้นบริษัท การแก้ไขเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) เอาหุ้นของผู้อื่น ทนายต่อสู้คดียักยอกหุ้นอย่างไร

                      ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 กำหนดความผิดเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์ไว้อย่างชัดเจนว่าผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ดังนั้นทรัพย์ที่ยักยอกหรือเบียดบังไปได้นั้นจะต้องเป็นทรัพย์ที่มีรูปร่างและจับต้องถือเอาได้จึงจะเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ มิเช่นนั้นไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานยักยอก

                     ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่นั้นจะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้  แต่หุ้นเป็นเพียงสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่หรือส่วนได้เสียของเจ้าของหุ้นที่มีอยู่ในบริษัทจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จะเบียดบังยักยอกได้  การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียน (บอจ.5) ยังไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวได้ และไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานยักยอก

                    แม้การกระทำดังกล่าวอาจไม่ใช่ความผิดฐานยักยอกหุ้น แต่อาจมีความผิดในฐานอื่น เช่น แจ้งความเท็จ แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ ปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ เป็นต้น  ดังนั้นการจะดำเนินคดีในข้อหาใดๆ ก็ทำความเข้าใจเนื้อหาของกฎหมายในแต่ละข้อหา เพราะหากดำเนินคดีผิดพลาดคนดำเนินคดีอาจถูกดำเนินคดีกลับข้อหาแจ้งความเท็จ หรือฟ้องเท็จ หรือเบิกความเท็จได้เช่นเดียวกัน By www.siaminterlegal.com