ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 12 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ถูกจับดำเนินคดีข้อหาเมาแล้วขับทำอย่างไร

                การเมาแล้วขับรถถือว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น   ซึ่งหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และไปทำการขับรถจะมีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 160 ตรี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่  แต่หากการเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี ปรับสองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปีหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่  กรณีที่เมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปีและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าสองปีหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่  และหากการเมาแล้วขับเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่  ซึ่งหากถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วต้องพิจารณาก่อนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่เพราะเหตุใด และเข้าองค์ประกอบความผิดในบทใด เนื่องจากแต่ละลักษณะความผิดจะมีโทษหนักเบาแตกต่างกันไป หรือสาเหตุของความเสียหายจะเกิดจากฝ่ายที่ได้รับความเสียหายก่อให้เกิดขึ้นเอง เช่น การตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิด หรือการจอดรถด้วยความประมาทของผู้เสียหายนั้นเอง การหยุดรถในระยะกระชั้นชิด การกลับรถในระยะกระชั้นชิด การไม่เปิดสัญญาณไฟ เป็นต้น   พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเสียก่อนว่าผู้ต้องหาควรจะให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจไปในแนวทางใดไม่ว่าจะเป็นการให้การปฏิเสธหรือให้การรับสารภาพหรือการเจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายหรือการสรุปสำนวนคดีของเจ้าพนักงานตำรวจและนำมาให้ผู้ต้องหาลงชื่อว่าเป็นการสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่และสมเหตุสมผลหรือไม่ด้วย  By www.siaminterlegal.com