ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 12 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

นัดไต่สวนมูลฟ้องคดียักยอกหรือถูกแจ้งความคดียักยอกทำอย่างไร

                 ความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งต้องแจ้งความดำเนินคดีหรือฟ้องคดีต่อศาลเองภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิเช่นนั้นคดีขาดอายุความ  เมื่อเจ้าของทรัพย์สินเสียทรัพย์สินไปก็เป็นผู้เสียหายแล้วก็มีสิทธิดำเนินการได้ 2 ทาง คือ แจ้งความให้ดำเนินคดี และหรือแต่งตั้งทนายยื่นฟ้องคดีต่อศาลในทันที  ซึ่งความผิดฐานยักยอกนั้นต้องเป็นการที่ได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น และทำการเบียดบังเอาทรัพย์สินนั้นไปเป็นของตัวเองหรือของบุคคลอื่นโดยทุจริต แต่ในความเป็นจริงความคิดความเห็นของผู้เสียหายหรือทนายความผู้เสียหายหรือพนักงานสอบสวนก็ไม่ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป  ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สิน หรือไม่ใช่การเบียดบังเอาทรัพย์สินไป หรือมีการผูกพันสัญญาทางแพ่งใดๆ ต่อกันไว้ หรือเป็นการยกให้ หรือเป็นนิติกรรมอย่างอื่นๆ ที่ไม่ใช่มูลเหตุทางอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ หรือการไม่ได้มีเจตนายักยอกใดๆ หรืออาจเป็นเพียงความผิดในทางแพ่งเท่านั้น โดยไม่มีมูลความผิดทางอาญาอยู่ด้วยก็เป็นได้  แต่ในทางปฏิบัติก็มักจะดำเนินคดีเพื่อกดดันให้ชดใช้ค่าเสียหาย  ดังนั้นผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อนว่าเข้าข่ายเป็นความผิดข้อหายักยอกหรือไม่ 

                 หากมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักสอบสวนแล้วก็ต้องให้การปฏิเสธ และให้ถ้อยคำเป็นพยานต่างๆ ให้เห็นว่าไม่มีมูลความผิดทางอาญาอย่างไร  ซึ่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพราะหากให้การปฏิเสธลอยๆ และไปให้การในชั้นศาลซึ่งสามารถทำได้ตามกฎหมายแต่ศาลมักมองว่าเป็นเรื่องโกหกและไม่เป็นความจริงเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอยๆ และไม่มีการให้การมาตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวนและน้ำหนักพยานไม่มีความน่าเชื่อถือ  ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับการให้การต่างๆ หรือการตั้งรูปเรื่องคดีต้องปรึกษาทนายความที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะข้อหาด้านนี้เสียก่อนว่าจะดำเนินการให้การหรือต่อสู้คดีอย่างไรจะเป็นประโยชน์สูงสุด

                 กรณีที่ผู้เสียหายเลือกใช้วิธีการแต่งตั้งทนายความฟ้องคดีต่อศาลทันที เนื่องจากไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีหรือแจ้งความแล้วแต่การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นไปอย่างล่าช้า ศาลจะกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องเพื่อพิจารณาพยานหลักฐานเบื้องต้นว่ามีมูลความผิดฐานยักยอกหรือไม่  ผู้ถูกฟ้องก็สามารถแต่งตั้งทนายความเข้าทำการซักค้านทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์หรือผู้เสียหายให้ศาลเห็นว่าการกระทำที่ฟ้องไม่เป็นความผิดฐานยักยอกอย่างไรและศาลไม่ควรรับคดีไว้พิจารณาอย่างไรด้วย  เพราะหากศาลเห็นว่าคดีมีมูลและรับคดีไว้พิจารณาจะต้องมีกระบวนการสอบคำให้การ การประกันตัว การต่อสู้คดี การพิจารณาคดีอีกหลายขั้นตอน รวมทั้งการพิพากษาคดี  ซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อน เสียเวลา และค่าใช้จ่ายอีกมาก  ดังนั้นการพยายามซักค้านทำลายน้ำหนักพยานโจทก์ให้ยกฟ้องเสียแต่ชั้นนี้นับว่าเป็นประโยชน์แก่คดีอย่างมาก  By www.siaminterlegal.com