ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 10 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ทำความผิดอาญาแต่ไม่อยากติดคุกหรือวิธีขอให้ศาลรอการลงโทษทำอย่างไร

                     เมื่อกระทำความผิดทางอาญาลงไปแล้วก็เป็นปกติธรรมดาที่คนทำผิดไม่ต้องการได้รับโทษจำคุก  ซึ่งทางแก้ของเรื่องนี้ก็คือต้องประเมินเสียก่อนว่าการกระทำความผิดนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบของความผิดหรือไม่ ฝ่ายผู้เสียหายมีส่วนผิดหรือมีส่วนก่อให้เกิดเหตุการณ์นั้นหรือไม่ และพยานหลักฐานของผู้เสียหายมีเพียงพอหรือไม่  หากการกระทำดังกล่าวนั้นเห็นว่าไม่เป็นความผิดหรือมีข้อต่อสู้หลายประการและมีน้ำหนักพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยที่ดีเพียงพอก็ควรต้องปฏิเสธและต่อสู้คดีไป  แต่หากเมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเห็นว่ากระทำผิดจริงๆ และพยานหลักฐานของผู้เสียหายมีน้ำหนักมั่นคงหนักแน่นก็ควรให้การรับสารภาพ 

                   ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือรับสารภาพแล้วจะทำอย่างไรให้ศาลเมตตาไม่พิพากษาลงโทษจำคุก โดยรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษจำเลยไว้แทน  ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กำหนดว่าผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฎว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่วแวดล้อมของผู้นั้นหรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว เห็นเป็นการสมควร  ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้ 

                   ซึ่งในความเป็นจริงจำเลยบางคนมีข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์และควรให้ศาลทราบเพื่อให้ศาลได้เห็นพฤติการณ์โดยรวมและอาศัยเป็นเหตุไม่พิพากษาลงโทษจำคุกและให้รอการลงโทษไว้ แต่กระบวนการนำเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ถูกดำเนินการเพราะทนายจำเลยไม่ยอมกระทำให้ หรือขี้เกียจทำ หรือไม่รู้ว่าควรต้องทำ หรือไม่รู้ว่าทำอย่างไร หรือทำแล้วแต่นำเสนอได้ไม่ดี หรือทนายจำเลยไม่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว หรือการไม่บรรยายถ้อยคำหรือวลีที่ดีพอในทำนองให้ศาลเกิดความเมตตาจำเลยไม่ว่าเพราะไม่ทราบหรือขาดความรู้ความชำนาญก็ตาม  ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลไม่ทราบข้อเท็จจริง หรือทราบแต่ไม่เมตตาปราณีโดยพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทำให้จำเลยต้องถูกต้องขัง และเสียประวัติ  และอาจต้องส่งตัวไปเรือนจำในระหว่างรอคำสั่งศาลอุทธรณ์ว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ (กรณีศาลชั้นต้นไม่สั่งเอง) สภาพจิตใจของจำเลยจะย่ำแย่มากเมื่อได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำระหว่างพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว  ดังนั้นกระบวนการนำเสนอข้อเท็จจริงให้ศาลเมตตาและพิพากษาให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีนั้นเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเกี่ยวพันกับเสรีภาพของจำเลยโดยตรง เพราะศาลเองไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยทุกเรื่องจำต้องอาศัยทนายความนำเสนอในวิธีการที่ถูกต้องแม่นยำตรงประเด็นมุ่งโดยตรงการการไม่ติดคุกนั่นเอง  By www.siaminterlegal.com