ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 7 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

กลโกงของลูกหนี้และข้อควรระวังในการรับชำระหนี้ด้วยเช็ค


กลโกงของลูกหนี้และข้อควรระวังในการรับชำระหนี้ด้วยเช็ค

เช็คเป็นตราสารชนิดหนึ่งของตั๋วเงิน  โดยปัจจุบันมักมีการชำระหนี้ด้วยเช็คในวงการธุรกิจหรือประชาชนทั่วไป เนื่องจากการจ่ายเช็คไม่จำเป็นต้องนำเงินสดติดตัวทำให้ปลอดภัยจากยภันตรายจากผู้ไม่หวังดีและปัญหาอาชญากรรมได้ และปัจจุบันมีคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับเช็คทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาในศาลเป็นจำนวนมาก  ด้วยเหตุที่คดีเช็คเป็นความผิดในคดีอาญาและคดีแพ่งจึงเป็นเหตุให้มีเงื่อนแง่ในด้านกฎหมายหลายประการในการใช้ช่องทางของกฎหมายเพื่อยุติคดีอาญา  โดยเมื่อมีการชำระหนี้ด้วยเช็คแล้วควรดำเนินการ ดังนี้
1.    เมื่อเช็คถึงกำหนดเรียกเก็บเงินควรนำเช็คไปเรียกเก็บเงินในทันที  หากปล่อยช้าไว้นานเกินหกเดือนธนาคารมีสิทธิปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คได้  และจะเกิดปัญหาเมื่อมีการขอให้ออกเช็คใหม่ เพราะลูกหนี้ที่ขาดสภาพคล่องมักจะไม่อยากชำระหนี้ และคงไม่ออกเช็คใหม่แน่นอน
2.    คดีเช็คเป็นคดีอาญา และเป็นความผิดอันยอมความได้ (ความผิดต่อส่วนตัว) ดังนั้น เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินไม่ว่าจะด้วยเหตุใด เช่น เงินในบัญชีไม่พอจ่ายหรือบัญชีปิดแล้วก็ตาม  ผู้ทรงเช็คต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือต้องฟ้องคดีอาญาภายในกำหนด 3 เดือนดังกล่าว มิเช่นนั้นคดีขาดอายุความ  ในเรื่องดังกล่าวผู้ทรงเช็คโดยทั่วไปมักจะมองว่าหากฟ้องคดีหรือแจ้งความจะเป็นการกระทำที่รุนแรงและเสียลูกค้าในวงธุรกิจ  แต่ด้วยกฎหมายบัญญัติให้ต้องกระทำการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในกำหนดดังกล่าวจึงต้องกระทำเช่นนั้นไปก่อน  เมื่อผู้ออกเช็คหรือลูกหนี้จะมาเจรจาชำระหนี้ตามเช็คในภายหลังจึงค่อยถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องต่อไปได้  เนื่องจากหากไม่ดำเนินการดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดจะทำให้คดีอาญาขาดอายุความ  ซึ่งคงไม่ค่อยคุ้มกับการสูญเสียหรือหนี้ตามเช็คเท่าไร  และต้องดำเนินการเป็นคดีในทางแพ่งอย่างเดียวเท่านั้นและกว่าจะต่อสู้คดีกันสามศาลยังไม่รู้ว่าลูกหนี้จะมีทรัพย์สินให้ยึดพอชำระหนี้หรือไม่    ดังนั้นการดำเนินคดีเช็คจึงควรดำเนินการคดีอาญาและคดีแพ่งควบคู่กันไป  
3.    การดำเนินคดีเช็คในทางแพ่งก็มีอายุความด้วยเช่นกัน เช่น ผู้ทรงเช็คฟ้องผู้สลักหลังและผู้ออกเช็คต้องฟ้องภายในหนึ่งปี  หรือผู้สลักหลังฟ้องไล่เบี้ยกันเองหรือผู้สลักหลังฟ้องผู้ออกเช็คต้องฟ้องภายในหกเดือนตามที่กฎหมายกำหนด
4.    การรับชำระหนี้ด้วยเช็คจะต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น หากเป็นลูกค้ารายใหม่อาจเป็นกลโกงในการทำธุรกิจ ท่านอาจถูกหลอกว่าจะซื้อสินค้าจำนวนมาก  อย่ามัวแต่ดีใจที่ขายสินค้าได้  ท้ายที่สุดจะกลับกลายเป็นท่านที่โดนหลอกเอาสินค้าไปโดยชำระหนี้ด้วยเช็คเพียงใบเดียว  ท่านจะต้องตรวจสอบว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าของบัญชีจริงหรือไม่ และต้องทำหลักฐานในการซื้อขายด้วยเพื่อให้เห็นว่าเช็คเป็นการชำระหนี้ตามหนี้ใด  แต่หากไม่เชื่อใจหรือไม่อยากรับความเสี่ยงก็ไม่ควรรับชำระหนี้ด้วยเช็คเลย ซึ่งบางรายกว่าจะรู้กลโกงก็สายเสียแล้ว เมื่อตรวจสอบก็เป็นเช็คปลอม ลายมือชื่อในเช็คปลอม  ท้ายที่สุดต้องมานั่งเสียใจภายหลังเพราะส่งมอบสินค้าให้ไปแล้ว
5.    เมื่อดำเนินคดีเช็คเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งไว้ต่อศาลแล้ว  หากผู้ออกเช็คหรือทนายผู้ออกเช็คมาขอเจรจาขอผ่อนชำระหนี้ในคดีแพ่งอย่าเพิ่งด่วนดีใจที่จะได้รับชำระหนี้เพราะนั่นอาจเป็นวิธีการหรือกลลวงของผู้ออกเช็ค  เนื่องจากหากมีการไปตกลงผ่อนชำระหนี้ตามเช็คในคดีแพ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้คดีอาญาระงับได้  เพราะฉะนั้นการจะตกลงทำยอมหรือผ่อนชำระหนี้ในคดีใดหรือไม่ท่านควรปรึกษานักกฎหมายหรือทนายความก่อนเพราะอาจมีผลทำให้คดีอาญาระงับโดยผลของกฎหมายทันที