ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 7 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

เขียนคำแก้อุทธรณ์คดีแพ่งอย่างไรให้ชนะคดี

              เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เป็นฝ่ายชนะคดีแล้วก็อย่าเพิ่งคิดว่าคดีจะยุติเพียงเท่านี้เพราะคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเขามีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ตามกฎหมาย  โดยศาลจะส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์ให้คู่ความที่ชนะคดีทราบและให้ทำคำแก้อุทธรณ์ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ แต่หากเป็นการรับสำเนาอุทธรณ์โดยวิธีการปิดหมายนั้น ระยะเวลาในการปิดหมาย 15 วัน รวมกับระยะเวลาแก้อุทธรณ์อีก 15 วัน รวมเป็น 30 วัน  หากยื่นไม่ทันกำหนดดังกล่าวศาลก็จะรับได้เป็นเพียงคำแถลงการณ์เท่านั้น  ซึ่งคำแก้อุทธรณ์นั้นถือเป็นคำคู่ความจึงก่อให้เกิดประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้  ส่วนคำแถลงการณ์ รวมทั้งคำแก้อุทธรณ์ที่ยื่นไม่ทันกำหนดและศาลรับไว้เป็นเพียงคำแถลงการณ์นั้นไม่ใช่คำคู่ความจึงไม่อาจตั้งประเด็นในคดีได้  ผลการไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์หรือยื่นไม่ทันดังกล่าวทำให้คดีไม่อาจตั้งประเด็นในชั้นอุทธรณ์ตามคำแก้อุทธรณ์ได้  แต่คดีคงมีประเด็นในชั้นอุทธรณ์เฉพาะตามคำฟ้องอุทธรณ์เท่านั้น

             การเขียนและเรียงคำแก้อุทธรณ์นั้นนับว่าเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งและใช้ฝีมือมาก   โดยทนายที่มีประสบการณ์มากๆ  มักจะใช้ถ้อยคำ  วลี สำนวนที่เป็นภาษาด้านกฎหมายในการเรียงคำแก้อุทธรณ์  และมีการเน้นคำหรือโน้มน้าวให้เห็นข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี  และในขณะเดียวกันก็จะเป็นการทำลายน้ำหนักหรือข้ออ้างอิงของคู่ความฝ่ายตรงข้ามไปด้วยในตัว  โดยจะอธิบายให้เห็นหลักกฎหมายและปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายดังกล่าวให้กระจ่างและเห็นแนวทางว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และคำฟ้องอุทธรณ์ที่ผู้แพ้คดียื่นมานั้นไม่เห็นพ้องด้วยอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไรด้วยหลักเกณฑ์และเหตุผลทั้งสิ้นทั้งปวง  อีกทั้งยังเทียบเคียงกับแนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่เคยตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานประกอบหรืออ้างอิงไว้ด้วย เพื่อประโยชน์แก่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแล้วแต่กรณีจะได้นำไปค้นคว้าและนำมาประกอบการเขียนคำพิพากษา  ซึ่งต้องยอมรับว่าในประเทศไทยหากมีคำพิพากษาศาลฏีกาเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วคดีต่อๆ มาก็ล้วนจะตัดสินไปในแนวทางด้วยกันทั้งหมด                                                                            

             ดังนั้นหลักการเขียนคำแก้อุทธรณ์ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญและต้องใช้ความรู้ด้านกฎหมายและประสบการณ์เฉพาะตัวของทนายความแต่ละคนโดยแท้  รวมทั้งการใช้ถ้อยคำ วลี สำนวนให้สละสลวยมุ่งโดยตรงต่อน้ำหนักการรับฟังของศาลหรือผู้อ่านด้วย  ซึ่งคู่ความที่ยื่นคำแก้อุทธรณ์จะใช้ทนายความคนเดิมหรือแต่งตั้งทนายความคนใหม่ในการดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์ก็ได้ทั้งสิ้น   By www. siaminterlegal.com