ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 2 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ร้องจัดการมรดกคืออะไร ดำเนินการอย่างไร คัดค้านได้หรือไม่อย่างไร

              เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท  ซึ่งทรัพย์สินบางอย่างไม่อาจทำการจำหน่ายจ่ายโอนได้เนื่องจากทรัพย์สินทั้งหมดมีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน เงินในบัญชีธนาคาร เป็นต้น เจ้าหน้าที่ที่ดินและธนาคารจะไม่ได้โอนหรือเบิกถอนแน่นอน  ซึ่งท่านจะต้องไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลเสียก่อนหลังจากนั้นจึงนำคำสั่งศาลมาทำการโอนหรือเบิกถอนเงินเพื่อนำไปแบ่งปันแก่ทายาทได้  คนที่ร้องขอจัดการมรดกได้ปกติจะเป็นทายาทเสียส่วนใหญ่ โดยให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาล  ศาลจะทำการประกาศหนังสือพิมพ์ให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาคัดค้าน  โดยการร้องขอจัดการมรดกไม่จำต้องมีหนังสือยินยอมจากทายาทเสมอไปแต่เป็นเรื่องความเหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดกที่ศาลจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม  แต่ในทางปฏิบัติจะให้ทายาทอื่นเซ็นต์ชื่อยินยอมให้ตั้งผู้จัดการมรดก  และนำพยานเข้าไต่สวนตามคำร้อง  โดยในวันนัดไต่สวนผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาทคนอื่นๆ อาจยื่นคำร้องคัดค้านการเป็นผู้จัดการมรดกได้  ซึ่งศาลจะพิจารณาถึงความเหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดกก่อนมีคำสั่งต่อไป ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกคือ ปัญหาการให้เซ็นต์กระดาษเปล่า การแอบร้องจัดการมรดกและแอบนำโอนให้ตนเองและโอนหนีจนขาดอายุความ  การปกปิดทรัพย์มรดก  การไม่แบ่งทรัพย์มรดก หรือการแบ่งมรดกไม่เท่าเทียมกันตามกฎหมายกำหนด ซึ่งก็ต้องมีการร้องขอถอนผู้จัดการมรดกและแต่งตั้งคนใหม่ทำหน้าที่แทน การฟ้องขอให้แบ่งปันมรดก หรือการดำเนินคดีอาญาข้อหาปลอมเอกสารต่อไป  โดยหากผู้จัดการมรดกทราบสิทธิและหน้าที่ของตนเองก็จะไม่เกิดปัญหาคดีความขึ้น