ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 4 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ความผิดฐานจำหน่ายยาบ้ามีโทษอย่างไร และอย่างไรถือเป็นการจำหน่ายยาบ้า

                  ยาบ้าถือเป็นยาเสพติดที่ให้โทษชนิดร้ายแรง และถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เช่นเดียวกับยาเฮโรอีน ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522  ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) กำหนดให้การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คือ แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป กล่าวคือ ยามีสารบริสุทธิ์เกิน 375 มิลลิกรัม หรือเกิน 15 เม็ด หรือมีน้ำหนักสุทธิเกิน 1.5 กรัม  หากเข้าเกณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการจำหน่ายยาเสพติด  แต่หากเป็นการล่อซื้อไม่ว่ายาเสพติดจะน้อยกว่าที่กำหนดในมาตรา 15 ดังกล่าวก็มีความผิดฐานจำหน่ายได้เพราะถูกจับขณะทำการจำหน่าย  ซึ่งมาตรา 66 กำหนดบทลงโทษว่า

              ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

              ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม แต่ไม่เกินยี่สิบกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท

              ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต

             สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นหลักกฎหมายเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ทั้งสิ้น ซึ่งรูปคดีแต่ละเรื่องจะแตกต่างกันออกไปเพราะบางกรณีผู้ต้องหาเห็นว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดเช่น คนฝากสิ่งของไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นยาเสพติด หรือเพียงแค่นั่งไปในรถไม่รู้ว่าในรถมียาเสพติด หรือไปหาเพื่อนที่บ้านและถูกตำรวจรวบตัวไปด้วยทั้งที่ไม่รู้ว่าที่บ้านเพื่อนมียาเสพติด หรือมีคนจ้างวานให้ไปส่งสิ่งของโดยไม่รู้ว่าเป็นยาเสพติด หรือถูกยัดยา หรือถูกเพิ่มจำนวนยา หรือถูกซ้อมให้รับสารภาพ ฯลฯ เมื่อถูกจับก็ต้องรีบปรึกษาทนายความทันทีเพื่อจะได้ทำการวางแผนการให้การหรือให้ทนายเข้ามาดูแลปกป้องสิทธิของท่านได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ไขเยียวยา  By www.siaminterlegal.com