ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 1 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

เช็คเด้งแต่ไม่แจ้งความหรือไม่ฟ้องคดีภายในสามเดือนจนคดีขาดอายุความแก้ไขอย่างไร

              คดีว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้นเป็นความผิดอันยอมความได้ เพราะฉะนั้นผู้ทรงเช็คต้องแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในกำหนดเวลา 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิเช่นนั้นคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96  ซึ่งในทางปฏิบัติทางการค้าระหว่างกันผู้ทรงเช็คอาจเกรงใจผู้ออกเช็คหรือบางครั้งหลงลืมไม่ได้นำเช็คไปขึ้นเงินหรือไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร หรือนำไปขึ้นเงินแล้วแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและพ้นกำหนดเวลา 3 เดือนดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดผู้ออกเช็คก็ไม่ได้ชำระหนี้ใดๆ บางครั้งก็หลบหนี ติดต่อไม่ได้ หรือแจ้งว่าไม่มีเงินชำระหนี้ หรือแจ้งว่าไม่มีความผูกพันเป็นหนี้ที่ต้องชำระ  ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งและสร้างว่าคับแค้นใจให้ผู้ทรงเช็คเป็นอย่างมากเนื่องจากจะรู้สึกว่าถูกโกง และถูกเยาะเย้ยจากลูกหนี้ด้วย  ในเรื่องดังกล่าวก็มีวิธีการแก้ไขหลายประการ เช่น การขอให้ลูกหนี้ออกเช็คชำระหนี้ฉบับใหม่ หากถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็รีบดำเนินคดีเช็คภายในอายุความ  แต่หากลูกหนี้ไม่ยอมออกเช็คฉบับใหม่ก็ต้องฟ้องคดีเช็คในทางแพ่ง  ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 กำหนดให้ผู้ทรงเช็คต้องฟ้องคดีแก่ผู้ออกเช็คภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่เช็คถึงกำหนด ซึ่งจะเห็นได้ว่าคดีแพ่งมีอายุความที่ยาวนานกว่าคดีอาญา แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ทรงเช็คหรือเจ้าหนี้ก็ยังไม่อาจฟ้องคดีภายใน 1 ปีได้อีก คราวนี้ก็ต้องฟ้องคดีแพ่งในเรื่องการผิดสัญญาแต่ละประเภทที่ออกเช็คชำระหนี้ต่อไป  ซึ่งอายุความจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับนิติกรรมสัญญาแต่ละประเภท เช่น เรียกค่าสินค้าก็จะมีอายุความ 2 ปี หรือ 5 ปี แล้วแต่กรณี หรือการผิดสัญญามีอายุความ 10 ปี เป็นต้น  ซึ่งหากฟ้องคดีและศาลพิพากษาให้ชำระหนี้แล้วยังคงไม่ชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินมาชำระหนี้ที่ค้างพร้อมดอกเบี้ยต่อไป  ดังนั้นการดำเนินธุรกิจต่างๆ ควรมีนักกฎหมายหรือทนายความที่คอยให้คำปรึกษาหรือวางแผนคดีให้ถูกต้องมิเช่นนั้นหนี้ที่ควรจะได้ก็อาจไม่ได้เลยและที่สำคัญคือเป็นการสูญเสียหนี้ไปโดยชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย  การตั้งประเด็นผิดอาจถูกยกฟ้องและแพ้คดี  และอาจมีปัญหาในการฟ้องคดีใหม่ไม่ได้ และต้องสูญเสียหนี้ในที่สุด  By www.siaminterlegal.com